ค้นหาทุกเรื่องราว..ได้ที่นี่

Custom Search

วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

โภชนาบำบัดสำหรับผู้ที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง


ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงมักมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง หรือไม่ก็โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งการรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการป้องกันและรักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเลือดได้ ดังนั้นความเข้าใจถึงแนวทางในการบริโภคอาหารที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญอย่างมาก

การบริโภคอาหารเพื่อป้องกันและลดคอเลสเตอรอลในเลือด

1. รับประทานคอเลสเตอรอลไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม โดยคอเลสเตอรอลมีเฉพาะในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น และจะมีมากในอาหารบางชนิด เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ มันสัตว์ และสัตว์น้ำบางชนิด จึงควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมาก

2. รับประทานอาหารในแต่ละวัน ที่ให้พลังงานรวมแล้วเพียงพอต่อการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยผู้ใหญ่ควรมีดัชนีความหนาของร่างกายประมาณ 20.0-24.9 กิโลกรัม / ตารางเมตร คำนวณจากน้ำหนักตัว หน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตร ยกกำลังสอง เช่น 50 / (1.5)2 = 22.2 กิโลกรัม / ตารางเมตร

3. หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ ไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีมันติดมากๆ อย่างหมูสามชั้น เพราะกรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น

4. รับประทานอาหารที่ให้กรดไขมันไลโนเลอิก (linoleic acid) อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 50 ในน้ำมันพืชบางชนิด เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด การที่เรารับประทานอาหารที่มีกรดไขมันไลโนเลอิก ประมาณร้อบละ 7-10 ของพลังงานที่ได้รับ เช่น วันหนึ่งต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี ควรได้กรดไลโนเลอิกประมาณ 16-22 กรัม ซึ่งได้จากน้ำมันถั่วเหลืองประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ เพราะมีการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลที่ตับเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามถ้าคุณมีคอเลสเตอรอลสูงในเลือดจากสาเหตุอื่น เช่น กรรมพันธุ์โรคบางชนิด ควรรับประทานยาลดคอเลสเตอรอลและรักษาโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุให้มีคอเลสเตอรอลสูงในเลือดควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง โภชนาบำบัดจะช่วยส่งเสริมผลการรักษาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และช่วยลดปริมาณการรับประทานยาลงได้